สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เร่งขยายเครือข่ายความร่วมมือการจัดทวิภาคีคุณภาพสูง กับ กระทรวงแรงงาน และองค์กร IM Japan (International Management Japan)
“สร้างความร่วมมือ เป้าหมายผลิตแรงงานคุณภาพสูงสู่สากล”
เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2566 เวลา 13.00 น. นายอรรถการ ตฤษณารังสี นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 นายสมศักดิ์ บุญโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 คณะผู้บริหารสถาบัน และ Mr.Hedata Tamura ผู้จัดการ IM Japan Thailand พร้อมทีมงาน เข้าพบ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายโอวาท ทองบ่อมะกรูด ผู้อำนวยการกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือแนวทางความร่วมมือผลิตแรงงานคุณภาพสู่งสากล ณ ห้องประชุมอาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 7 ประเด็นหารือ ได้แก่ แนวทางความร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพในระดับนานาชาติ เนื่องจากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เป็นสถาบันการศึกษาทางอาชีพที่เน้นการสอนและการพัฒนาทักษะทางอาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา ให้พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานคุณภาพสูง โดยการจัดหลักสูตรที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะเป็นผู้นำในงานอุตสาหกรรม ซึ่งองค์กร IM Japan เป็นองค์กรที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ มุ่งเน้นการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาทางอาชีพในประเทศญี่ปุ่นโดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมทางอาชีพและการบริหารจัดการที่เน้นความสามารถในการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ท้าทาย ในโลกอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กระทรวงแรงงาน โดยปลัดกระทรวงแรงงานได้สนใจโครงการความร่วมมือดังกล่าวเนื่องจากเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงที่สร้างแรงงานคุณภาพทั้งใช้ในประเทศและเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ และได้ให้ความสนับสนุนเรื่องข้อมูลลักษณะงาน หรืออาชีพที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการบริการ และให้กำหนดเป็น “ต้นแบบการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศต่อไป” โดยการเลือกอาชีพมากำหนดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการอาชีวศึกษาต้องเป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการและความต้องการของผู้เรียนซึ่งปัจจุบันมีอาชีพหลากหลายมาก สถาศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบริบทในการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อให้มีความสอดคล้องและเหมาะสม
การประชุม หารือในครั้งนี้จะเสริมสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งของการบริหารจัดการอาชีวศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงแรงงาน สถาบันการอาชีวศึกษา และองค์กรหรือตลาดแรงงานประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูให้กับนักเรียนและบุคลากรในประเทศได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เป็นการพัฒนาประเทศไปในคราวเดียวกัน