เกี่ยวกับสถาบัน

ประวัติและความเป็นมา

     สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ประกอบด้วย 7 สถานศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม วิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี  วิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์  วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล และวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ที่ได้มุ่งคุณภาพตามแผนงานการประกันคุณภาพการศึกษา สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 และได้ดำเนินการจัดทำเพื่อตอบสนองนโยบายในระดับต่างๆ  ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 หมวด 5 ที่กำหนดว่า รัฐต้องดำเนินการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีแนวคิดที่ต่อเนื่องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  11  พ.ศ. 2555 – 2559  ที่มีแนวคิดในการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่เชื่อมโยงทุกมิติของการพัฒนาอย่างบูรณาการและเป็นองค์รวม ทั้งมิติตัวคน สังคม เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมและการเมือง สำหรับแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552 – 2559) ที่สาระสำคัญยังคงเน้นในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเช่นเดียวกันโดยมีวิสัยทัศน์ว่าคนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการนำสู่แผนการปฏิบัติว่าคนไทยเป็นคนดี เก่ง มีความสุข สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคนอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนอีกทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่มาตรา 81 กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับ

การศึกษาแห่งชาติพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดบทบัญญัติไว้ ในหมวด 3 กำหนดให้การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยซึ่ง ในหมวด 4 กำหนดแนวการจัดการศึกษาโดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพทั้งการศึกษาในระบบและ นอกระบบต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรมกระบวนการเรียนรู้โดย ในหมวด 6 กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาทุกระดับประกอบด้วยระบบการประกันคุณภาพภายในทุกปีและระบบการประกันคุณภาพภายนอกทุก 5 ปี ทั้งสองระบบต้องทำรายงานเสนอต่อสาธารณชนโดยรัฐจัดสรรงบประมาณและกองทุนพัฒนาครูบุคลากรทางการศึกษาอย่างเพียงพอ  มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนค่าตอบแทนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สำหรับการศึกษา  สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตและพัฒนาแบบเรียนตำราหนังสือทางวิชาการสื่อสิ่งพิมพ์อื่นอีกทั้งข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (พ.ศ.2552-2556) มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่าระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศมีความสอดคล้องกับความต้องการและมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

วิสัยทัศน์

     สถาบันผลิต นักเรียน นักศึกษา ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ตอบสนองความต้องการตลาดแรงงาน ตอบสนองการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ                                                            

อัตลักษณ์ของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5  

       นักปฏิบัติการด้านอาชีวะมาตรฐานสากล

พันธกิจ  

  1. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนกับหน่วยงาน และสถานประกอบการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงานและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
  2. ส่งเสริมการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และอาชีพแก่ชุมชนและสังคม
  3. ขยายโอกาสการจัดอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพแก่ชุมชนและสังคมอย่างทั่วถึง
  4. ส่งเสริมและพัฒนาระบบดิจิตอลมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
  5. ส่งเสริม พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีวศึกษา และมาตรฐานสากล
  6. เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และความภาคภูมิใจในความเป็นไทย แก่ผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา

เป้าประสงค์

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ
  2. สร้างองค์ความรู้งานวิจัยนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการพัฒนาอาชีพสู่ชุมชน
  3. เพิ่มปริมาณและยกระดับคุณภาพผู้เรียนอาชีวศึกษา
  4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถาบันการอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน
  5. ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพมาตรฐานสากล และความก้าวหน้าในอาชีพ
  6. ผู้เรียน ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

สีประจำสถาบัน : สีฟ้า - ขาว

     สีฟ้า หมายถึง ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ มีความจริงใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีของศาสตร์ทุกศาสตร์เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องกับสีน้ำทะเลของทั้ง 4 จังหวัดในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง ๕

     สีขาว หมายถึง ความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรมในการดำเนินภารกิจ และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคนเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป

     ธงสีฟ้า ขาว หมายถึง การร่วมกันพัฒนาและจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาอย่างสร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในจังหวัดเขตภาคกลางตอนล่าง ในท้องทะเลเดียวกันที่ล้อมรอบด้วยสีฟ้า หมายถึง น้ำทะเล และมีสีขาวตรงกลางเป็นหลักคุณธรรม ในการทำงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล

ต้นไม้ประจำสถาบัน : ต้นจิกทะเล

     ต้นจิกทะเลเป็นไม้ยืนต้นขึ้นอยู่มากบริเวณริมทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดสมุทรสาคร ลงไปถึงภาคใต้ของประเทศไทย มีลำต้นสูงประมาณ 10 เมตร แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วต้น กิ่งมีขนาดใหญ่ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทา ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้มสลับกันไปตามข้อต้น ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ อยู่ตามปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว เกสรสีชมพูอยู่ตรงกลาง ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผลขนาดใหญ่ โคนเป็นสี่เหลี่ยมป้าน ปลายสอบ

     เหตุผลที่เลือกต้นจิกทะเลเป็นต้นไม้ประจำสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง ๕ เพราะเป็นต้นไม้ที่มีในสี่จังหวัดในสถาบันและเป็นต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วต้น กิ่งมีขนาดใหญ่ เสมือนการโอบอ้อมอารีย์ ดูแลสรรพสิ่งภายใต้ร่มเงาอันกว้างใหญ่ ภายใต้บริบทการใช้ทรัพยากรร่วมกันในทุกส่วน อีกทั้งดอกเป็นช่อสั้นๆ สวยงาม แสดงถึงความแข็งแรง เกสรดอกจะแตกออกเป็นฝอยเล็กๆ หมายถึง ความร่วมมือ ร่วมใจ ของทุกภาคส่วน เมื่อแก่จะเป็นผลขนาดใหญ่ มีเมล็ดที่พร้อมจะเติบโตเป็นต้นไม้ให้ร่มเงาต่อไป